หมู่บ้านชิราคาวา-โกะ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ห่างไกลและขนาบข้างด้วยภูเขาหลายลูกของจังหวัดกิฟุ ทำให้ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่จะทำให้คุณตัดขาดจากโลกภายนอกได้อย่างง่ายดาย ที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าภูเขาที่กินพื้นที่เกือบ 96% ของพื้นที่หมู่บ้าน และในขณะเดียวกันที่นี่ก็น่าทึ่งมากๆ ลองจิตนาการว่าหากได้ลองมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะในสมัยก่อน—มันก็คงลำบากน่าดู แต่ชีวิตฉันในตอนนี้กำลังทำสิ่งนั้นให้เป็นจริงด้วยการไปค้นพบและทำความเข้าใจกับปรัชญาอันงดงามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ยูอิ”
ที่นี่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีหิมะตกมากที่สุดในญี่ปุ่น ในแต่ละปีจะมีหิมะปกคลุมหมู่บ้านโดยเฉลี่ย 10 เมตร และคงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีเนินหิมะที่สูงถึง 2 เมตร เมื่อความโดดเดี่ยวและสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมาผสานรวมกันทำให้บางคนรู้สึกว่าหมู่บ้านชิราคาวา-โกะเป็นเหมือนบ้านของพวกเขา
ชาวชิราคาวา-โกะจำเป็นต้องพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและมีการเตรียมการที่ดีอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ยังเป็นสมาชิกชุมชนที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา, มีการทำงานเป็นทีมด้วยความเข้าใจในสภาพพื้นที่ของพวกเขาเป็นอย่างดี และมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้แก่ผู้อื่น ครั้งหนึ่งดินแดนแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดฮิดะ ในภายหลังยุคฟื้นฟูเมจิ (ค.ศ.1868) พื้นที่นี้ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขตโอโนะ จังหวัดกิฟุ และไม่นานหลังจากนั้น ในปีค.ศ.1897 หมู่บ้านชิราคาวา-โกะก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น
ขณะที่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของกัสโซ-ซึคุริจะยังคงถูกปกปิดเป็นความลับ แต่นักประวัติศาสตร์ก็ได้ประเมินว่าบ้านหลังคามุงจากเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 250 ถึง 300 ปีที่แล้ว ถึงแม้ที่นี่จะตัดขาดจากโลกภายนอกมาเป็นเวลานาน แต่ผู้คนในชิราคาวา-โกะก็สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการปลูกต้นหม่อน และสร้างบ้านที่มีเอกลักษณ์ที่หลังคาแบบกัสโซ-ซึคุริ ซึ่งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจมากมาย
คุณอาจจะสงสัยว่า ‘กัสโซ-ซึคุริ หมายถึงอะไรกันนะ?’ ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า ‘กัสโซ’ (合掌) หมายถึง ‘พนมมือ’ ขณะที่ ‘-ซุคุริ-’ (-造り) เป็นคำต่อท้ายจากคำกริยาคำว่า ‘ซึคุริ’ (-造る) ที่หมายถึงสร้างหรือผลิต เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน ทำให้เกิดเป็นคำที่ใช้เรียกบ้านหลังคาสูงที่คล้ายกับพระสงฆ์พนมมือสวดมนต์นั่นเอง
ตลอดทั้งปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่หลายพันคน เพื่อมาชมบ้านเช่นเดียวกับฉัน หลายคนคงประหลาดใจที่ได้รู้ว่าหมู่บ้านชิราคาวา-โกะ ไม่ได้มีเพียงพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง หรือเป็นเพียงสมบัติที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต แต่เป็นหมู่บ้านที่ยังมีการอยู่อาศัยจริง ผู้คนยังคงใช้ชีวิตเหมือนที่พ่อแม่หรือบรรพบุรุษเคยทำมาก่อนรุ่นพวกเขา
ฉันเดินชมการตกแต่งภายในของบ้านหลังหนึ่งที่เปิดให้เข้าชมสาธารณะ และฉันต้องตะลึงกับความเฉลียวฉลาดทางสถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้ มุมหลังคาถูกสร้างขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าในช่วงฤดูหนาวที่ถึงแม้หิมะตกหนักก็จะไม่กองพะเนิน และทำลายความสมบูรณ์ของโครงสร้างบ้าน
ส่วนชั้นบนหลังคาบ้านดูเหมือนจะเคยดูใช้งาน—และยังคงใช้อยู่บ้างครั้งคราว—ส่วนใหญ่ใช้สำหรับจัดแสดงหรือเลี้ยงหนอนไหม เป็นเทคนิคการเกษตรรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘การเลี้ยงไหม’ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศโดยรอบที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการปลูกพืช ชาวบ้านจึงต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่มาทดแทน
เจ้าแขกกระดึบๆประจำบ้านเหล่านี้ถือได้ว่ามีมูลค่าอย่างยิ่งยวดตลอดช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1920 ถึง 1930 ในยุคก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ไนลอน เมื่อประเทศผลิตเส้นไหมได้จำนวนมาก พ่อค้าหนอนไหมก็ใช้ของที่มาจากหมู่บ้านชิราคาวา-โกะเป็นแหล่งผลิตสำคัญ เจ้าของบ้านก็เริ่มเลี้ยงและเก็บหนอนไหม จนมากขึ้นเรื่อยๆก็ทำให้เจ้าหนอนพวกนี้เป็นสัญลักษณ์ที่คลานกระดุกกระดิกอันแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชิราคาวา-โกะ
บางบ้านทำเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมสาธารณะ แต่ยังมีบ้านหลายหลังที่ยังเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล นั่นหมายความว่าพวกเขายังคงอาศัยอยู่ที่นี่ ดังเช่นเคยเป็นมาหลายชั่วอายุคน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกซะแล้ว ส่วนบ้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพื้นที่ คือ บ้านวาดาเกะ เป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านชิราคาวา-โกะ และมีผู้เข้าชมมากที่สุด บ้านหลังนี้เป็นของคุณมาซาฮิโระ วาดะ ผู้ซึ่งได้รับบ้านหลังนี้เป็นมรดกจากคุณพ่อคุณแม่ของท่าน
คุณวาดะเป็นผู้ชายที่ดูเหมือนจะติดการยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา เขาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี เรียกว่าเขาเป็นทูตประจำชิราคาวา-โกะที่สมบูรณ์แบบมากคนหนึ่ง เขาเกิดในปีค.ศ.1960 คุณวาดะเกิดและโตในบ้านวาดะ แต่ใช้ชีวิตวัยหนุ่มด้วยการเป็นครูที่ห่างไปจากหมู่บ้านอันเป็นที่รักของเขา แต่ด้วยสายเลือดความเป็นครูนั้น ทุกวันนี้เขาก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
เขาเล่าขณะที่พวกเรานั่งอยู่บริเวณใกล้กับเตาอิโรที่ใช้ในบ้านญี่ปุ่นโบราณว่า “ตอนที่ผมเป็นครู ผมทำงานนอกชิราคาวา-โกะ และย้ายไปหลายที่” แต่หลังจากที่เดินทางและทำงานไปทั่วทุกที่ ในที่สุดก็มีเพียงจุดหมายเดียวสำหรับเขา “ท้ายที่สุดผมก็อยากย้ายมาอยู่ใกล้กับพ่อแม่ ผมอยากเลี้ยงลูก และให้ความสำคัญกับหมู่บ้านและบ้านต่างๆที่นี่”
บทบาทของคุณวาดะเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของหมู่บ้านที่เมื่อย้อนไปในช่วงเวลาสำคัญในปีค.ศ.1995 ในปีนี้หมู่บ้านชิราคาวา-โกะได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางด้านสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลานั้นคณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมขอให้ครอบครัววาดะเปิดบ้านของพวกเขาต่อสาธารณชนเนื่องจากเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมอันยอดเยี่ยม คุณวาดะกล่าวว่า “สองปีหลังจากคำขอนั้น ในปีค.ศ.1997 พ่อแม่ของผมก็เปิดบ้านสู่สาธารณะ”
คุณวาดะประมาณกาลว่าเขาน่าจะเป็นเจ้าของบ้านรุ่นที่ 20 แล้ว ถึงแม้การเปลี่ยนบ้านของคุณซึ่งเป็นที่อยู่ครอบครัวของคุณมาหลายชั่วอายุคนมาทำเปิดให้เข้าชมสู่สาธารณะ ที่ๆคนแปลกหน้าสามารถเดินไปมาได้ทั้งวันและไม่รู้ว่าจะเกิดความเสียหายอะไรขึ้นบ้าง แต่สำหรับครอบครัววาดะมองว่าการทำเช่นนี้ถือเป็นการแสดงความเอื้ออาทรต่อชุมชนได้อย่างง่ายดาย นี่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ร่วมกันของหมู่บ้าน และเป็นการขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ที่เรียกว่า ‘ยูอิ’
‘ยูอิ’ มีความหมายสำคัญต่อชิราคาวา-โกะเช่นเดียวกับ ‘วาบิ-ชาบิ’ ของพิธีชงชา ถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของชุมชนในเกือบทุกอย่างของวิถีชีวิต มันคือจิตวิญญาณของชุมชน, ความใกล้ชิดสนิทสนม และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เมื่อพวกเราถามเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนการทางชุมชนอย่าง ‘ยูอิ’ คุณวาดะก็ยิ้มและอธิบายข้อเท็จจริงว่า “ด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่รุนแรงของชิราคาวา-โกะ นั้นหมายความว่าหากไม่มีแนวคิดของ ‘ยูอิ’ ก็คงยากที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดได้”
คุณวาดะเล่าประสบการณ์ของเขาในตอนที่ย้ายไปโตเกียวเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย และนั่นก็ได้เปลี่ยนความคิดของเขาต่อหมู่บ้านที่เขาเติบโต “ผมอยู่ในอพาร์ตเมนต์โดยไม่รู้จักเพื่อนบ้านมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่ผมเติบโตมา การสนใจแค่ตัวเองถึงแม้มันจะเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ผมจะไปที่ไหน? นั่นเป็นสิ่งที่ผมชั่งใจอยู่ตอนนั้น การใช้ชีวิตแบบนั้นจะไม่เคยเกิดขึ้นที่นี่” อาจกล่าวได้ว่าชิราคาวา-โกะอยู่แยกตัวโดดเดี่ยวในเชิงของภูมิศาสตร์ แต่ก็ยังคงโดดเดี่ยวน้อยกว่าโตเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการเชื่อมต่อระหว่างกันที่ดีที่สุดของโลก
ทุกอย่างในหมู่บ้านชิราคาวา-โกะเกิดจากการทุ่มเททำงานเป็นทีม โดยการให้ความรู้แก่เด็กๆเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพื้นที่จนถึงการปรับปรุงและสร้างหลังคาบ้านกัสโซ-ซึคุริ และการปกป้องบ้านเกิดของพวกเขาจากภัยพิบัติรวมถึงไฟไหม้ เพราะเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติ นั่นจะเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมหมู่บ้านถึงดำรงอยู่ได้ บ้านที่นี่ยังคงเป็นของครอบครัวดั้งเดิม และในอนาคตบ้านเหล่านี้ก็คงไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ มีคำขวัญประจำท้องถิ่นว่า “ห้ามขาย ห้ามเช่า ห้ามทำลาย” และคุณวาดะได้บอกกับฉันว่าบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของบ้านได้ในวันใดวันหนึ่ง ก็ต่อเมื่อแต่งงานกับคนในครอบครัว หรือเข้ามาเป็นลูกสาวหรือลูกชายของเจ้าของบ้านกัสโซ-ซึคุริ
คุณวาดะอธิบายว่า “ที่นี่ได้จัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแห่งชิราคาวา-โกะ และโอกิมาชิ ทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มกรรมการ และมีการจัดประชุมกรรมการในทุกเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนเสนอแนะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่” การอนุรักษ์หมู่บ้านชิราคาวา-โกะถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่ออนาคต ดังที่เคยทำกันมาตั้งแต่ในอดีต คุณวาดะเชื่อว่า “หากพวกเราตระหนักและมุ่งมั่นที่จะรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่นี่ก็จะยังคงเป็นสถานที่ที่ผู้คนอยากจะมาต่อไปเรื่อยๆ”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่นี่ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม การขับเคลื่อนชุมชนโดยการทำการเกษตรและรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการสร้างรายได้ที่เข้ามาในชุมชนและสร้างตลาดการท่องเที่ยวในวงกว้าง ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้มาเยือนที่นี่ก็จะได้สัมผัสกับประสบการณ์อันลึกซึ้งอย่างที่ฉันได้เผชิญ ฉันคิดว่าหมู่บ้านชิราคาวา-โกะเป็นมากกว่าฉากหลังที่สวยงามที่ใช้เซลฟี่ตามสถานที่ท่องเที่ยว
ขณะที่หลายๆคนจะมาที่นี่เพียงวันเดียวและกลับในช่วงบ่าย แต่ชาวบ้านอยากแนะนำให้แขกลองมาพักหนึ่งในบ้านกัสโซ-ซึคุริดั้งเดิมดูก่อน เพราะไม่ใช่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านโดยตรงเท่านั้น แต่คุณจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริงและเรียนรู้หมู่บ้านชิราคาวา-โกะมากขึ้น
คืนนี้ฉันโชคดีที่ได้พักที่บ้านกัสโซ-ซึคุริ มินชุคุ (บ้านพักรับรอง) ในขณะเดียวกันการได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในบ้านแบบดั้งเดิม และการดูแลอย่างพิถีพิถันทำให้คืนนี้ช่างน่าตื่นเต้นยิ่งนัก ที่นี่มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆทำให้ช่วงเวลานี้เป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน ตั้งแต่อาหารค่ำสไตล์โฮมเมดที่อร่อยเหลือเชื่อ ไปจนถึงการอาบน้ำส่วนตัวจากท่อน้ำอุ่น และการต้อนรับอย่างอบอุ่น การพักแรมในบ้านท้องถิ่นเช่นนี้เป็นมากกว่าแค่ที่พักสำหรับพักผ่อน แต่ยังเป็นบทเรียนในเรื่องจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่าโอโมเตะนาชิ
เมื่อถามเกี่ยวกับสิ่งที่ดีที่สุดและท้าทายมาที่สุดในงานของเขา คุณวาดะก็คิดสักครู่หนึ่งแล้วพูดว่า “ฉันคิดว่าการอนุรักษ์บ้านและทิวทัศน์ของชนบทดั้งเดิมคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” เขากล่าวต่อว่า “งานหนักใหญ่ๆคือการอนุรักษ์นี่แหละ”
และอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดกันนะ? อันนี้ง่ายเลย “การแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านให้ประจักษ์แก่คนภายนอก” เขาเสริมต่อว่า “เมื่อคนมาที่นี่ ไม่เพียงแต่จะได้เห็นภายนอกเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับหมู่บ้าน ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะอธิบายสิ่งเหล่านี้” เขาถือเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่ตั้งใจจะส่งมอบความดั้งเดิมของชิราคาวา-โกะ “ผมเชื่อว่า ‘ยูอิ’ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ของผม” เขาพูดพร้อมรอยยิ้ม
ในวันรุ่งขึ้นฉันได้พบกับผู้ชายคนหนึ่งชื่อคุณยูตะ คุโรกิ คุณคุโรกิเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบซ่อมบำรุงบ้านให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ และเขาคือช่างมุงหลังคานั่นเอง
จะช่วยฟื้นฟูบ้านที่เป็นมรดกของเขา จนถึงปัจจุบันเขาทำงานซ่อมบ้านกัสโซ-ซึคุริมา 5 ปีแล้ว รวมถึงยังเป็นหัวเรือสำคัญที่สนับสนุนให้คนในพื้นที่เริ่มเพาะปลูกหญ้าเพื่อนำมาใช้มุงหลังคา
“หญ้าส่วนใหญ่ที่พวกเราใช้ตอนนี้มาจากชิซุโอกะ” คุณคุโรกิอธิบายเสริมว่า “แต่ครั้งหนึ่งมันเคยปลูกบนภูเขาที่รายล้อมหมู่บ้านพวกเรา” ในอดีตสมาชิกในหมู่บ้านจะเป็นเจ้าของพื้นที่บางส่วนของภูเขาที่รายล้อมชิราคาวา-โกะ บนพื้นที่เหล่านั้นเดิมทีเจ้าของบ้านจะปลูกและตัดหญ้ามาใช้เพื่อซ่อมแซมหลังคาบ้านของพวกเขา เป็นวิธีการพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์ แต่ด้วยยุคสมัยใหม่ที่มีการขนส่งสะดวกสบายมากขึ้น การขนส่งหญ้าก็ง่ายขึ้นจากพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยมากกว่า จนมาถึงทุกวันนี้ภูเขาหลายลูกก็มีการปลูกต้นคายะมากขึ้น
คุณคุโรกิคาดคะเนว่า “ทุกวันนี้หญ้าประมาณ 90% ที่พวกเราใช้มาจากนอกจังหวัด มีเพียง 10% เท่านั้นที่มาจากที่นี่” ปัจจุบันหลังคาบางบ้านก็ทำมาจากหญ้าที่ปลูกในท้องถิ่น แต่มันปลูกค่อนข้างยาก ไม่ใช่ว่าจะใช้หญ้าอะไรก็ได้ มันจะต้องเป็นหญ้าพิเศษที่ใช้มุงหลังคาเท่านั้น ถ้ามีการใช้หญ้าท้องถิ่นมากขึ้น คุณคุโรกิก็คิดว่ามันน่าจะ “ราคาไม่แพงมาก” แต่เขากล่าวเสริมว่า “นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เหตุผลที่ผมตั้งใจคือการรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมของหมู่บ้านให้คงอยู่” เขากล่าวต่อไปว่า “มันอาจจะดูฝันไป แต่มันเป็นสิ่งที่ผมอยากทำให้ได้”
การเป็นช่างมุงหลังคาไม่ใช่อาชีพที่ง่าย หลังคาหนึ่งหลังใช้เวลามุงประมาณหนึ่งเดือน และบ้านส่วนใหญ่ก็ต้องการซ่อมแซมหลังคาทุกๆ 20 ปีหรือมากกว่านั้น การทำอาชีพนี้ต้องมีความพร้อม, ต้องแข็งแรง, ไม่กลัวที่สูง, สามารถทำงานในสภาพอากาศรุนแรงได้, ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี และมีความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามที่จะทำลายฟางที่ใช้มุงหลังคาและอาคารเก่าท้องถิ่น รวมถึงหิมะ (เนื่องจากจะทำให้เพิ่มน้ำหนักและเสี่ยงต่อการเน่าได้ง่าย)
งานก่อสร้างวัด, ศาลเจ้า และงานก่อสร้างอื่นๆทั่วประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาวที่มีความสามารถ ดังนั้นฉันจึงค่อนข้างตกใจที่คนงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในไซต์ซ่อมแซมหลังคาอายุยังน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสังคมญี่ปุ่นในสมัยนี้ ตามที่คุณคุโรกิได้เล่าว่า “มีผู้คนจำนวนมากจากหมู่บ้านที่ต้องการเป็นช่างมุงหลังคา แต่ที่น่าแปลกใจคือมีบ้านไม่พอกับจำนวนงานที่ต้องการ” แล้วจะทำอย่างไรให้คนๆหนึ่งที่สามารถทำงานตัดได้กลายมาเป็นช่างมุงหลังคาได้ล่ะ เขาอธิบายว่า “ทุกคนที่ทำงานที่นี่มีบ้านมุงหลังคาของตัวเอง ดังนั้นเขาย่อมมีพื้นฐานมาบ้าง”
ฉันถามคุณคุโรกิว่าทำไมเขาถึงคิดว่านี่มันเป็นงานยอดนิยม คำตอบของเขาเชื่อมโยงกับการอธิบายเรื่อง ‘ยูอิ’ ของคุณวาดะที่เล่าเมื่อวาน “พวกเราสอนเด็กๆในชุมชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หมู่บ้านของพวกเขา พวกเราไปในโรงเรียนและไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นั่นจึงทำให้เด็กๆหลายคนคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำมันค่อนข้างเท่”
หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณวาดะและคุณคุโรกิเกี่ยวกับพลังการขับเคลื่อนชิราคาวา-โกะด้วยแนวคิด ‘ยูอิ’ ฉันรับรู้ถึงการเปิดรับมุมมองใหม่ทางความสัมพันธ์ของฉันที่มีต่อโลก มันช่างน่าทึ่งที่ปรัชญาโบราณยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์มาหลายชั่วอายุคน และยังคงดำรงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ในขณะที่เราอาจจะคิดว่าโลกในยุค2020ของพวกเรามัน ‘เชื่อมโยงถึงกัน’ ได้มากกว่าในอดีต ทั้งในเชิงกายภาพผ่านการสร้างถนนหนทาง และโครงสร้างพื้นฐานเชิงการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีอันก้าวล้ำนำสมัย แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการเชื่อมโยงของมนุษย์ที่แท้จริงได้จากสถานที่อย่างหมู่บ้านชิราคาวา-โกะ